วาล์วลดความดันในระบบจ่ายน้ำประปา

ในระบบสุขาภิบาล ในส่วนของระบบประปา สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง แต่บางครั้งละเลยไป คือ
ความดันของน้ำ ในการใช้งานกับอุปกรณ์ต่างๆในระบบประปา ไม่ว่าจะเป็น ฝักบัว ก๊อกน้ำ หรือ สายชำระ การควบคุมความดันใช้งาน ไม่ให้สูงเกินไปนั้น เราจะใช้วาล์วลดความดัน เข้ากับระบบจ่ายน้ำของแต่ละโซน เนื่องจากระบบประปา อุปกรณ์ที่ใช้งานนั้น จะมีความดันใช้งานประมาณ 15-60 psi แต่วิศวกรออกแบบมักจะกำหนดให้ความดันใช้งาน ประมาณ 20-50 psi ซึ่งที่ความดันนี้ จะครอบคลุมอุปกรณ์ในท้องตลาดค่อนข้างมาก การควบคุมความดันของน้ำที่ใช้ไม่ให้เกิน 50 psi เพื่อเพื่อให้อุปกรณ์ในระบบประปานั้นใช้งาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ

หลักในการเลือกวาล์วลดความดัน ต้องเลือกจากอัตราการไหลและความดัน โดยที่เราจะไม่เลือกจากขนาดของท่อที่จะติดตั้งวาล์ว ถ้าสังเกตุ เราจะพบว่าวาล์วลดความดันนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าขนาดท่อที่จะติดตั้งวาล์ว การเลือกวาล์วลดความดันต้องเลือกวาล์ว ที่มีขนาดหรือ spec ใหญ่พอที่จะควบคุมความดันที่อัตราการไหล ที่มากที่สุดได้ และใการเลือกจะต้องพิจารณาที่ความดัน ขาเข้าและขาออกเป็นหลัก ซึ่งถ้าหากความดันขาเข้ากับขาออกแตกต่างกันมาก เมื่อใช้งานจะเกิด cavitation (ฟองอากาศ) เกิดเสียงดัง ซึ่งจะส่งผลให้วาล์วสึกกร่อนเร็วกว่าที่ควรจะเป็น โดยปกติ ผู้ผลิตวาล์วจะมีข้อมูลที่เป็นกราฟที่จะช่วยบอกการเกิด Cavitation โดยอาศัยค่าจากความดันขาเข้าและขาออกของวาล์ว หรือเราสามารถคำนวนการเกิด Cavitation ได้จากสูตร

K = (P2 + 14.7) / (P1-P2)

โดย K = ตัวเลขการเกิด Cavitation (ไม่มีหน่วย)
P1 = ความดันขาเข้า (psi)
P2 = ความดันขาออก (psi)

ถ้า ค่า K < 0.5 จะเกิด Cavitation
การเลือกวาล์วลดความดันนั้น จากกราฟ ถ้าจุดตัดของความดันขาเข้ากับความดันขาออก อยู่ในเขตเกิด Cavitation แสดงว่าในการลดความดันนี้ ลดมากเกินความสามารถของวาล์วชนิดนี้ เราต้องแก้ไขโดยเพิ่มขั้นตอนในการลดความดัน โดยการต่อวาล์วเพิ่มเป็นแบบ อนุกรมเพื่อลดความดันเป็น 2 ขั้น ซึ่งอาจะใช้วาล์วลดความดัน 2 ตัวหรือมากกว่า มาต่อเรียงกัน ซึ่งการต่อแบบนี้ จะสามารถลดความดันลงได้ โดยไม่เกิด Cavitation

ในกรณีที่ใช้วาล์วลดความดันเพียง 1 ตัว ใช้ลดความดันกับกรณีที่ระบบท่อนั้นมีการส่งน้ำปริมาณมากๆ ที่มีอัตราการไหลสูงสุดและอัตราการไหลต่ำสุดนั้นต่างกันมากๆ ที่อัจราการไหลต่ำสุด บางทีวาล์วลดความดันจะไม่เปิดหรือเปิดเพียงเล็กน้อย ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ วาล์วจะมีเสียงดังและเกิดความเสียหายได้ จึงควรแก้ปัญหานี้โดยการเลือกใช้วาล์วลดความดัน 2 ตัว ต่อขนานกัน โดยใช้ขนาดไม่เท่ากัน ใช้วาล์วที่เหมาะกับปริมาณการไหลน้อยๆ 1 ตัว และเหมาะกับการไหลมากอีก 1 ตัว โดยการทำงานของวาล์วตัวเล็กจะทำงานได้เหมาะกับมีอัตราการไหลของน้ำเพียงเล็กน้อย เมื่อมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น และอัตราการไหลเกินกว่าความสามารถของวาล์วตัวเล็ก วาล์วตัวใหญ่ก็จะทำงานแทนโดยอัตโนมัติ
ในการติดตั้งวาล์วลดความดันจะต้องติดตั้งอยู่ในแนวระดับเสมอ เพราะตัวควบคุมการทำงานของวาล์ว จะต้องมีแกนอยู่ในแนวดิ่งตลอดเวลาและ ส่วนที่เป็นท่อทางเข้าของวาล์ว อย่าลืมติดตะแกรงกรองเศษผง (Strainer) เพื่อป้องกัน Valve Seat (เศษผงขวางไม่ให้วาล์วปิดสนิท) จากเศษผงต่างๆ และควรมี Bypass valve เตรียมไว้เพื่อการบำรุงรักษา ตัววาล์วลดความดันหลัก ซึ่งถ้าเราได้ตรวจและทดสอบวาล์วลดความดันตามระยะเวลา วาล์วก็จะทำหน้าที่ได้ดีเสมอๆ







Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *