ปัญหาของน้องน้ำฝน

ขอโทษครับ น้องน้ำฝนที่กล่าวมา ไม่ใช่คนนะครับ คือสายฝนนี่ละ เรื่องของฝนที่ทำให้ปวดหัวกับบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับอาคาร ทั้งผูออกแบบ ผู้ควบคุมงานและผู้รับเหมา เอาตั้งแต่เรื่องการก่อสร้าง เมื่อเริ่มก่อสร้าง ผู้รับเหมามักหลีกเลี่ยงการเปิดงานดินในหน้าฝน เพราะนอกจากจะเฉอะแฉะ ดินอมน้ำมากๆ ดินย่อมเสียความแข็งแรง การจะทำกำแพงกันดิน (Sheet Pile) ก็จะทานน้ำหนักดินกับน้ำไม่ไหว ยิ่งถ้ามีเครื่องจักรหนักอยู่บริเวณนี้ ก็จะพังได้ง่ายๆ ดังนั้น วิศวกรสุขาภิบาล เช่นขุดบ่อบำบัดน้ำเสีย ขุดท่อระบายน้ำฝน พึงหลีกเลี่ยงที่จะทำในฤดูฝนครับ เมื่อพ้นจากงานดินเข้าสู่งานโครงสร้างของอาคาร ช่วงนี้ฝนจะเป็นอุปสรรคกับงานเทคอนกรีต การเทคอนกรีตในพื้นที่กว้างๆ จะต้อง เตรียมการป้องกัน เช่นนำผ้าใบคลุมไว้ในขณะเริ่มเทคอนกรีตและทิ้งไว้จนกว่าคอนกรีตจะแข็งตัวจนได้ช่วงเวลาที่ใช้ได้ ในส่วนของงานระบบไม่ค่อยจะมีอะไรมาก เพียงแต่คอยดู sleeve หรือ block out ให้มั่นคงแข็งแรง อย่าให้เคลื่อนเปลี่ยนตำแหน่ง
พองานก่อสร้าง เริ่มถึงงานสถาปัตยกรรม ได้แก่งาน ก่ออิฐ ฉาบปูน ปูพื้น และงานฝ้า พึงจำไว้ว่า ก่อนเริ่มงานฝ้าเล็กน้อย ต้องมีการสำรวจตรวจสอบว่า ท่อต่างๆสามารถระบายน้ำได้สะดวก ไม่มีขี้ปูนของช่างปูน ไม่มีเศษไม้ของช่างไม้รวมถึงถุงพลาสติกห่อข้าว ขวด M-150 ไปอุดตันในท่อหรือ ท่อมีการรั่วซึมหลังจากการทดสอบ มิฉนั้นถ้ามีฝนตกลงมาหลังจากเริ่มงานฝ้าไปแล้ว น้ำฝนจะระบายลงทางท่อระบายไม่ได้น้ำฝนจะขังอยู่บนหลังคา บนพื้น หลังจากนั้นจะล้นไปตามที่ต่างๆที่เราไม่อยากให้ไป เช่น ช่องลิฟท์ ถ้าน้ำฝนลงไปที่แผงควบคุมลิฟท์ ก็จะเสียหาย ซึ่งค่าซ่อมเป็นหลักแสนนะครับ ถ้าน้ำลงไปที่ช่อง shaft ไฟฟ้า (ถ้า bus duct โดนน้ำ ต้องอบ bus duct ใหม่ให้แห้งและ ทดสอบอีกที) กรณีที่อาคาร มีห้องใต้ดิน และกำหนดห้องเครื่องของอาคารไว้ที่ห้องใต้ดิน ในห้องเครื่องมี หม้อแปลง, ตู้ MDB, Chiller, Generator, Fire Pump และอื่นๆ กำลังเตรียมจะให้ไฟฟ้าเข้าระบบ แต่ว่า คืนหนึ่งฝนตกหนักมาก เรียกว่า ฝนพันปีก็ว่าได้ น้ำท่วมถนนหมด และท่วมเข้ามาใน manhole ไฟ้ฟ้าที่พื้นดิน น้ำไหลเข้าไปตามท่อร้อยสายไฟลงไปที่ห้องใต้ดิน ท่วมเครื่องทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องมาสูบน้ำออกและซ่อมแซมทำให้เสียเวลา การเปิดอาคารต้องเลื่อนออกไปนานทีเดียว

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *