การเลือกใช้สายทนไฟให้เหมาะสมกับระบบ

สายทนไฟ คืออะไร
สายทนไฟ คือ สายไฟฟ้าที่ตัวเปลือกหุ้มทองแดงได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ให้ตัวนำทองแดงสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้า ได้ต่อเนื่องสักพักหนึ่งในช่วงเวลา 2-3 ชั่วโมง แม้ตัวเปลือกที่เป็นฉนวนจะถูกไฟไหม้ไปแล้ว สายทนไฟเหมาะกับอุปกรณ์ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าขณะเกิดเพลิงไหม้ เช่น พัดลมอัดอากาศบันไดหนีไฟ, พัดลมดูดควันเพลิงไหม้, ลิฟท์ สำหรับพนักงานดับเพลิง ฯลฯ

หลักการพิจารณา เลือกว่าสายไฟฟ้าชุดใดควรจะใช้สายทนไฟบ้าง
เนื่องจากสายทนไฟมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับสายไฟฟ้าธรรมดาทั่วไป การเลือกกำหนดว่าสายไฟฟ้าส่วนไหนจำเป็นต้องเป็นสายทนไฟบ้าง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย โดยรวมพอจะแยกเป็นหัวข้อดังนี้
1.สายไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าปกติ ที่มาจาก กฟน ไม่จำเป็นต้องใช้สายทนไฟ เนื่องด้วยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ การไฟฟ้าจะตัดไฟที่เข้ามายังอาคาร จึงไม่มีไฟฟ้ามาให้ใช้อยู่แล้ว
2. สายจาก Generator มายัง EMDB ไม่จำเป็นต้องใช้สายทนไฟ เพราะหากเกิดเพลิงไหม้ ที่ห้องที่ติดตั้ง Gen. แล้ว ตัวเครื่องและห้องจะต้องถูกไฟไหม้หมด
3. สายไฟฟ้าที่จ่ายให้ระบบแสงสว่างและจาก Gen. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สายทนไฟ เนื่องด้วยแสงสว่างประเภทนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในบริเวณทั่วไปในเวลาทำงานปกติ หากไฟฟ้าดับและ Gen. มีปัญหาจะมีแสงจากธรรมชาติภายนอก ช่วยให้สามารถมองเห็นทางได้ และหากเป็นบริเวณที่ทึบแสง จะมีโคมไฟฟ้าฉุกเฉินที่รับไฟจากแบตเตอรี่ช่วยส่องทาง
4. สายไฟฟ้าที่ไฟจ่ายให้แผงชุด Starter สำหรับ Pressurized Fan, Smoke Exhaust Fan และ Fireman Lift สายประเภทนี้ควรใช้สายทนไฟ และควรจะเป็นสายทนไฟตลอดทางจากต้นทางแหล่งจ่ายไฟ (EMDB) ไปถึงแผง Starter ไม่ควรมี CB ตัดตอนกลางทาง
5. สายไฟฟ้าที่ไปจ่ายให้ Electric Fire Pump ไม่จำเป็นต้องเป็นสายทนไฟ เนื่องด้วยจะต้องมี Diesel Fire Pump เป็นชุดสำรองอยู่แล้ว
6. สายไฟฟ้าจากแผง Starter ไปยัง Pressurized และ Smoke Exhaust Fan และสายในแผง Starter ไม่จำเป็นต้องเป็นสายทนไฟ เนื่องด้วยห้องเครื่องดังกล่าวปกติจะถูกออกแบบให้อยู่ชั้นสูงสุดของอาคาร และอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางระบายควันไฟ หากเกิดเพลิงไหม้ในชั้นล่างกว่าจะลามถึงชั้นบนสุดก็จะกินเวลานาน การอพยพคนออกจากอาคารก็น่าจะหมดไปแล้ว และหากเกิดเพลิงไหม้ในห้องดังกล่าว ตัวเครื่องเองก็เสียหายไปแล้ว แต่ถ้าเป็นกรณีที่แผงควบคุมอยู่คนละที่กับพัดลมสายไฟ้าจากแผง starter ไปยัง Smoke Exhaust Fan ต้องใช้สายทนไฟ
7. สายไฟฟ้าที่มาจากระบบเตือนภัยเพลิงไหม้ เพื่อมาสั่งงานให้ระบบ Pressurized และ Smoke Exhaust Fan ทำงาน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สายทนไฟ เนื่องด้วยเมื่อเริ่มเกิดเพลิงไหม้จริง อุปกรณ์ที่ตรวจจับจะสั่งงานไปที่แผง Starter ให้พัดลมทำงานไปก่อนแล้ว หากสายชุดนี้ถูกไฟไหม้ พัดลมก็ยังทำงานได้อยู่
8. สายไฟฟ้าและสายควบคุมใน Lift Core ของ Fire Man Lift ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สายทนไฟ เนื่องด้วย Fire Man Lift ถูกกำหนดให้อยู่ในบริเวณที่เป็น Fire Man Lobby ซึ่งเป็นพื้นที่ป้องกัน คือก่อสร้างด้วยวัสดุทนไฟ และมีระบบอัดอากาศ ฉะนั้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และพนักงานดับเพลิงต้องเข้าไใช้งาน Lift ดังกล่าวนี้ ตัว Lift และการควบคุม Lift ก็ยังสามารถใช้งานได้

ความจำเป็นที่จะเลือกใช้ว่าสายไฟฟ้าชุดใดของแต่ละอุปกรณ์ หรืองานแต่ละประเภทตามตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว คงเป็นหลักการเบื้องต้นเพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาเลือกใช้ ทั้งนี้ คงต้องอยู่ที่การพิจารณาของผู้ออกแบบและงบประมาณของเจ้าของโครงการอีกด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับอาคาร และผู้ใช้อาคาร

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *